

แนวคิดเรื่องความเงียบ
บทนำ
พุทธศาสนา ลัทธิเต๋า หรือนิกายเซ็นให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “แนวคิดเรื่องความเงียบ” ว่าเป็นวิธีการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่ความมีสติ รวมถึงการเจริญสมาธิ อันก่อให้เกิดผลคือการหยั่งรู้ทางปัญญาในที่สุด และการนำพาการหยั่งรู้ทางปัญญานี้เองที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการช่วยปรับ ความสมดุลสำหรับชีวิตของมนุษย์ เฉกเช่นที่ ท่านเล่าจื๊อ ปราชญ์แห่งลัทธิเต๋าได้เคยกล่าวไว้ ซึ่งผู้เขียนถอดความตามความเข้าใจว่า “สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนกลับคืนสู่ต้นกำเนิดของตนเอง” โดยที่การกลับคืนสู่ต้นกำเนิดนั้นมีความเงียบเป็นแก่นแกน ภาวะแห่งความเงียบนี้เราอาจนับว่า มันคือการเริ่มต้นการสร้างวงจรของชีวิตใหม่ เนื่องจากท่านเล่าจื้อได้เปรียบเปรยถึงความเงียบว่าเป็นเสมือนยุทธวิธีในการ เอาชนะความพยายามทั้งหลาย อันเกิดจากความสับสนทั้งหลายทั้งปวง หรือปรัชญาของท่านอิสสะ นักปรัชญาแห่งนิกายเซ็นก็ยังเน้นย้ำให้มนุษย์ได้ตระหนักถึง “การที่มนุษย์จะมีศักยภาพในการเข้าใจสาระของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งบังเกิดขึ้นจากภาพเบื้องหน้าที่ตาเห็นได้อย่างลึกซึ้ง ก็ต่อเมื่อมนุษย์อยู่อย่างเงียบๆ” เพราะพื้นฐานเบื้องต้นของความเงียบนั้น ถือว่าเป็นภาวะของการดูแลร่างกายโดยแรกเริ่ม และยังเป็นสภาวะในการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำสมาธิดังที่กล่าวไปแล้ว เมื่อใดที่สรรพสิ่งเข้าสู่ภาวะของการดูแลร่างกายให้มีสุขภาพที่ดี และมีชีวิตที่ยืนยาว จักสามารถพัฒนาสาระจากความเงียบเพื่อกลับเข้าสู่สภาวะบ่มเพาะโดยความเงียบ อีกครั้ง…..และจะเป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยไป ไม่ว่าจะเป็นวิถีแห่งการเจริญเติบโตของสัตว์หรือพืช
สรุปได้โดยคร่าวว่า ลัทธิเต๋าแนะนำเรื่องการทำสมาธิด้วยการนั่งอย่างสงบ เพื่อเข้าถึงแก่นของธรรมชาติ ซึ่งเป็นภาวะแห่งการทำนุบำรุงสุขภาพและชีวิตที่ยืนยาว สาระที่ลึกซึ้งจากสภาวะที่สมดุลดังกล่าวจึงส่งผลให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ วิธีที่จะหยุดคิด เพื่อเป้าหมายแห่งการมีสติและกำเนิดภาวะแห่งการตั้งมั่น เมื่อมนุษย์มีความตั้งใจมั่น มนุษย์ก็จะเข้าถึงทั้งความเงียบและสัมผัสถึงความสงบที่แท้จริง ความสงบนี้เองก็จะนำพามนุษย์เราไปสู่การหยั่งรู้ด้วยปัญญาอีกขั้นหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ลัทธิเซ็นก็มีความเชื่อที่คล้ายคลึงคือ ภาวะแห่งความสงบนั้นสามารถทำให้มนุษย์ได้เข้าใกล้สิ่งแวดล้อมมากกว่าการ เคลื่อนที่ไปมา และการหยั่งรู้ซึ่งปัญญาของปรัชญาเซ็นนั้นมุ่งเน้นกับการมีเอกภาพโดยเป็นอัน หนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ หรือพักผ่อนอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เนื่องจากสรรพสิ่งล้วนมีขั้นตอนของตนเองในวงจรอย่างเหมาะสม การอยู่อย่างเป็นธรรมชาติด้วยการอยู่อย่างเงียบๆ และเจริญสมาธิที่เกิดขึ้นภายใต้ความสงบจักผลักดันให้มนุษย์มีความเจริญเติบ โตจากภายใน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีชีวิตที่เบิกบานอิ่มเอมซุกซ่อนอยู่ และเวลาเดียวกันนั้นเองก็จะกำเนิดปรากฏการณ์แห่งการหลุดพ้นที่แท้จริง
ความเงียบกับอัจฉริยภาพของบุคคลกลุ่มพิเศษ
แม้ความเงียบในความหมายของพุทธศาสนา เต๋า และเซ็นจะหมายถึงความเงียบในจิตใจ ไม่ใช่การปิดประสาทสัมผัสทางรับรู้ แต่ขณะที่มนุษย์จดจ่อในการตั้งมั่นนั้น พลังจากสภาวะดังกล่าวจะก่อตัวขึ้น เมื่อมนุษย์ไม่ได้ถูกรบกวนจากสภาวะทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆทั้งปวง
ผู้เขียนจึงมีความเห็นในเชิงบวกว่า หากมนุษย์สามารถปิดประสาทสัมผัสทางรับรู้บางช่องทาง วิธีนี้อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดอุปสรรคสำหรับการเจริญสมาธิก็ได้ เช่นเดียวกับในกรณีของคนพิการทางหู ที่แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้ จะประสบปัญหากับการไม่ได้ยิน ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรม หรือมีการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากับมนุษย์ที่มีหูปกติ แต่ในด้านของปัญญาแล้วไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น ความไร้ประสิทธิภาพในการได้ยินอาจไม่ใช่อุปสรรคของกลุ่มคนผู้มีความพิเศษ หากอาจเป็นโอกาสอันดีสำหรับการจดจ่อและตั้งมั่นเพื่อการเจริญสมาธิ ทั้งนี้ก็ยังช่วยในการรักษาร่างกายของตนเองซึ่งดีกว่าคนปกติในบางครั้งเสีย ด้วยซ้ำ เนื่องจากปราศจากการรบกวนจากภายนอกทั้งปวง และทำให้กำเนิดการหยั่งรู้ทางปัญญาได้รวดเร็วขึ้น
อนึ่งแนวคิดเรื่องความเงียบที่แสดงเจตนารมย์เพื่อการเจริญทางสมาธิตามหลัก ธรรมของศาสนาพุทธดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น ช่วยให้มนุษย์เรากลับสู่ต้นกำเนิดอย่างสมบูรณ์ และความเงียบนั้นจักนำไปสู่ชีวิตใหม่ที่มีดุลยภาพ นอกจากนี้ความเงียบยังเป็นวิธีการที่อยู่เหนือความเสียหายที่เกิดจากความ สับสน อลหม่าน วุ่นวาย หรือมีสิ่งรบกวนจิตใจทั้งปวง เพราะเมื่อใดที่คนเรารู้จักหยุดคิด เราก็จะเกิดความตั้งใจ และเมื่อเราเกิดความตั้งใจ เราก็จะเข้าถึงความสงบและสันติ สุดท้าย คือสันติที่ว่านั้นก็หมายถึง “สันติแห่งจิตใจ” ซึ่งเป็นความพร้อมที่จะเข้าสู่การเกิดปัญญาโดยลำดับ อันเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนานั่นเอง
ดังภาพบรรยากาศและตัวอย่างต่างๆ ที่ประกอบอยู่ภายในวีดีโอทัศน์ได้แสดงให้เห็นว่า เด็กพิการทางหูผู้เข้าร่วมโครงการฯ กำลังร่วมกิจกรรม จัดขึ้นโดยหอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พวกเขามีความตั้งมั่นในกิจกรรมของโครงการอบรมฯ โดยที่พวกเขาสามารถแสดงจินตนาการที่พร่างพรูอันไม่จำกัด จากภายในจิตใจผ่านออกมาทางมือที่อธิบายได้จากภาพผลงาน แม้จะแสดงท่าทางคร่ำเคร่งจนปราศจากสีหน้าที่บ่งบอกอารมณ์ใดๆก็ตาม ฉะนั้น ความเงียบถือเป็นหนึ่งแนวคิดในการดูแลจิตใจและเป็นพื้นฐานของสมาธิ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจึงนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบ ที่สามารถส่งเสริมการตระหนักรู้ทางปัญญาได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีทิศทางที่มุ่งเน้นที่จะนำมนุษย์เข้าสู่การตั้งใจมั่น มีสมาธิ และพัฒนาการหยั่งรู้ทางปัญญา ตามครรลองที่เหมือนกัน ดังนั้น หากเด็กพิการทางหูเหล่านี้มีความสามารถทางศิลปะที่ดี พวกเขาก็จะสามารถใช้มันสื่อสารกับตนเอง รวมถึงผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ศิลปะไทยปรากฏอยู่ในบริบทของวัฒนธรรมพุทธศาสนาของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว ด้วยบรรพชนของเรานั้นมักใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงปัญญาจากความ เงียบ หรือแสดงความคิดเห็นที่ดีงาม ผ่านสุนทรียะประดุจเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ศักดิ์สิทธิ์ เหตุนี้ ศิลปะจึงมีอิทธิพลต่อคนไทยมาช้านาน และมีอิทธิพลต่อเด็กพิการทางหูด้วยเช่นกัน เด็กๆจากกลุ่มพิเศษที่มีสนใจต่อศิลปะจะเกิดความมีสติจากความตั้งใจมั่นได้ เร็ว ซึ่งความตั้งใจที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งเสริมให้พวกเขามีความกลมกลืนกับบริบทของวัฒนธรรม พุทธอย่างไทย อันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมสำหรับชีวิตของพวกเขาเองได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะเดียวกัน ผู้เขียนได้สังเกตเด็กๆระหว่างดำเนินกิจกรรมว่า การที่พวกเขาอยู่ในสภาวะแห่งความเงียบในช่วงเวลาสรรค์สร้างงานในช่วงเวลาดัง กล่าว ความเงียบที่แสดงนัยยะแห่งความสงบทำให้ผู้เขียนเองรู้สึกว่าตนเองนั้นได้ อยู่ใกล้กับธรรมชาติ พร้อมๆกับเกิดความพยายามที่จะเข้าใจในวิถีธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งแง่มุมเบื้องต้นของพุทธธรรมดังที่กล่าวไป จักเชื่อมโยงความเงียบสงบให้เข้ากับ “การขดตัวอยู่ในที่ที่ปลอดภัย” ทั้งนี้ผู้เขียนมีความหวังว่า พวกเขาเองคงรู้สึกไม่แตกต่างกัน เพราะกิจกรรมทางศิลปะนี้ คือประสบการณ์แห่งการหลุดพ้น การพักผ่อน การก่อเกิดพลังจากการจดจ่อที่มีจุดหมาย และ “การค้นพบอัจฉริยภาพที่พิเศษจากความพิเศษ” ของตัวเองด้วยตนเอง
บทสรุป: ขีดจำกัดที่อัจฉริยะกับแนวคิดเรื่องความเงียบที่สัมฤทธิ์ผล
ความเงียบในความหมายของพุทธศาสนา ดังที่ผู้เขียนพยายามไขความถึงแนวคิดเรื่องความเงียบที่หมายถึงความเงียบใน จิตใจไม่ได้หมายถึงการไม่รับรู้ เพราะอย่างไรก็ตาม “ขีดจำกัด” ของเด็กพิการทางหูในการบกพร่องของประสาทสัมผัสบางประเภท อาจช่วยให้พวกเขาเกิดความคิดในเชิงนามธรรมได้โดยไม่ถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอก นับว่าเป็นการลดอุปสรรคของการเจริญสมาธิ ดังเช่น การสังเกตผลจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในช่วงของการอบรม เด็กพิการทางหูก็แสดงให้พวกเราเห็นแล้วว่า พวกเขาได้สัมผัสความเงียบสงบ เกิดสมาธิอย่างสันติ และก่อเกิดปัญญาอย่างบริบูรณ์
ฉะนั้น ในกรณีของกลุ่มบุคคลพิเศษเหล่านี้กับการไร้ประสิทธิภาพทางการได้ยินอาจส่งผล ต่อพฤติกรรม ซึ่งนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพมากกว่าคนปกติในหลายๆด้าน (ตามสายตาของคนปกติ) แต่ผู้เขียนก็ได้ประจักษ์แล้วว่า ความไร้ประสิทธิภาพทางการได้ยินอาจไม่ใช่อุปสรรคของกลุ่มคนเหล่านี้ หากเป็นโอกาสเสียอีกที่จะเอื้ออำนวยให้พวกเขาเกิดการมีสมาธิ และเกิดความกระจ่างอย่างทะลุปรุโปร่งจากความแจ่มแจ้งทางปัญญาตามบริบท วัฒนธรรมพุทธของไทยอย่างง่ายดายมากกว่าคนปกติ เนื่องจากความสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากความบกพร่องทางประสาทสัมผัสของกลุ่ม บุคคลพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
Get In Touch
Associate Professor
Dr. Supavee Sirin-k-raporn
Full Time Lecturer
Silpakorn University, Bangkok Thailand,
Jewellery Artist and Designer
*
pearvee@yahoo.com
Tel. 662 623 6115
Ext.1287, 1253
Mobile: 6689 742 5213
*
The Faculty of Decorative Arts, Department of Jewellery Design,
Silpakorn University, Bangkok Thailand
31 Naphralan Road
Phranakorn,Bangkok,
Thailand 10200