Design a site like this with WordPress.com
Get started

มนุษย์น้อยๆ กับศิลปะเครื่องประดับ (๒)

โครงการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม

1. ชื่อโครงการ “มนุษย์น้อย ๆ กับ ศิลปะเครื่องประดับ” (ครั้งที่ ๒)

2. หน่วยงานที่รับผิดชอบ 
ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
3. หลักการเหตุผล
ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตระหนักถึงปรัชญาประจำคณะมัณฑนศิลป์ที่ประกาศไว้ถึงการ “ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ในการสร้างสรรค์งานทางด้านมัณฑนศิลป์ เป็นผู้รอบรู้ มีทัศนคติอันดีงามรู้จักคิดวินิจฉัย มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาตนเอง มีคุณธรรมและนำคุณประโยชน์มาสู่สังคม” ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดีงามต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย และประเด็นหนึ่งที่รัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเป็นพิเศษ แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ดังกำหนดไว้ในมาตราที่ 30 ซึ่งประกาศให้เห็นความชัดเจนของการอ้างศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิอื่น ๆ ที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดพึงจะได้ คือ “การกำหนดว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน 

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างกันในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือ สุขภาพ  สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา  การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้“ จึงทำให้มาตราที่ 55  มีความโดดเด่น แต่สังคมกัลป์เพิกเฉยและละเลยการพัฒนาเท่าที่ควรทั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยว่า  “บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ” 

จึงทำให้การดำเนินการโครงการ “มนุษย์น้อยๆกับศิลปะเครื่องประดับ” ซึ่งเป็นโครงการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมที่ได้รับจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการแสดงคุณค่าทางสติปัญญาของการสร้างสรรค์ผลงาน เครื่องประดับระหว่างนักศึกษากับเด็กผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน คุณค่าทางจิตใจเรื่องการมีชีวิตที่เอื้ออาทรกันโดยมีศิลปะเป็นสื่อกลาง หรือคุณค่าทางความงามที่เกี่ยวกับการอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมในจิตใจออกมา เป็นรูปธรรมที่สวมใส่ได้และสร้างความผูกพันทางจิตใจระหว่างกัน


ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นสูงสุดและการสอดคล้องกันอย่างมาก ระหว่างปรัชญาคณะฯ กับบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญ ภาควิชา ฯ จึงเล็งเห็นศักยภาพที่จะสามารถช่วยเหลือบุคคลที่ขาดโอกาส ตามธรรมชาติของศาสตร์ศิลปะรวมถึงการออกแบบได้อย่างเต็มที่ บนสังเขปที่ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พึงจะมี อีกทั้งนักศึกษาภายในภาควิชาฯ นอกจากจะเป็นผู้รอบรู้ มีความสามารถสร้างสรรค์ พัฒนาทั้งตนเอง และมีคุณธรรมนำคุณประโยชน์มาสู่สังคมได้แล้ว นักศึกษาจะต้องแสดงบทบาทอันเด่นชัด ต่อช่องทางใด ๆ ก็ตามที่สามารถจะประกอบคุณูปการต่อวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ภาควิชาฯ จึงใคร่สานต่อเจตนารมย์อันดีระหว่างนักศึกษาและเด็กผู้พิการทางหู โดย ดำเนินโครงการ “มนุษย์น้อย ๆ กับศิลปะเครื่องประดับ” ครั้งที่ ๒ ขึ้นเพื่อพัฒนาอัจฉริยภาพทางการสร้างสรรค์ ให้บังเกิดผล อย่างเป็นรูปธรรม โดยลักษณะของกิจกรรมมีรายละเอียดดังนี้ เด็กแต่ละคนจะมีพี่เลี้ยงคนละหนึ่งคน (ซึ่งเป็นนักศึกษาภายในภาควิชาฯ ) เด็ก ๆ ทุกคนจะดำเนินการสร้างสรรค์งานศิลปะเครื่องประดับ 3 มิติ ภายหลังจากการรับฟังบรรยายความรู้พื้นฐานของงาน

ศิลปะเครื่องประดับและความสัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่งรูปแบบของการถ่ายทอดผลงานจะเป็นอิสระ ไม่มีการจำกัด ขึ้นอยู่กับความรู้สึกและจินตนาการของเด็กเหล่านี้

โดยทางภาควิชา ฯ จะจัดเตรียมวัตถุดิบ วัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนี้ ดินเหนียว ดินน้ำมันหลากสี กระดาษชนิดต่าง ๆ กาว คัตเตอร์ กรรไกร ลวด เชือก พลาสติกหลากหลาย สีน้ำ สีเทียน สีไม้ ดินสอ พู่กัน และ ทรัพยากรต่าง ๆ รอบสถานที่ อาทิเช่น ใบไม้ กิ่งไม้ หรือ ก้อนหิน ฯลฯ สุดแล้วแต่เจ้าของผลงานจะดัดแปลงตามจินตนาการ 

โดยผลงานขั้นสุดท้ายจะถูกนำจัดแสดง ณ หอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

4. วัตถุประสงค์ของโครงการ
4.1 เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ได้พัฒนาทักษะและการสร้างสรรค์ ตลอดจนมีความเข้าใจผลงานประเภท “ศิลปะเครื่องประดับ” เพื่อกระตุ้นจินตนาการ และมุ่งเน้นให้เด็กดึงแนวคิด สาระภายในผลงาน ที่ได้รับจากกิจกรรมเข้าสู่ “การพัฒนาตนเอง จิตใจ และแนะแนวทางการประกอบอาชีพตามขอบเขตของงานศิลปะเครื่องประดับในอนาคต”
4.2 เพื่อสานต่อการผลักดันให้เด็กและเยาวชน ค้นพบ อัจฉริยภาพ บนความแตกต่างจากคนปกติได้ เพราะเด็กกลุ่มนี้คือ หัวใจสำคัญอีก 1 หน่วยที่มีคุณค่าและสามารถร่วมมือกันพัฒนาประเทศชาติ
4.3 เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกของนักศึกษาภายในภาควิชาฯ ให้พึงตระหนักตนเองว่าจักต้องมีทัศนคติอันดีงามในเรื่องคุณธรรม นำคุณประโยชน์มาสู่สังคม  และวัฒนธรรมไทย มิใช่ตอบสนองต่อตนเองเพียงอย่างเดียว
4.4 เพื่อการแลกเปลี่ยนมุมมองในด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ  ระหว่างเด็กผู้มีความพิการ กับนักศึกษาที่มีความพร้อมทางกายและจิตใจ  ร่วมมือกันผลักดันสุนทรียศาสตร์ในความต่างอย่างถูกวิธี เรียนรู้ซึ่งกันและกันพร้อมนำจุดดีและด้อยมาพัฒนาตนเองกันทั้ง 2 ฝ่าย

Get In Touch

Associate Professor 
Dr. Supavee Sirin-k-raporn 
Full Time Lecturer
Silpakorn University, Bangkok Thailand, 
Jewellery Artist and Designer

*

pearvee@yahoo.com
Tel. 662 623 6115
Ext.1287, 1253
Mobile: 6689 742 5213

*

The Faculty of Decorative Arts, Department of Jewellery Design,
Silpakorn University, Bangkok Thailand
31 Naphralan Road
Phranakorn,Bangkok, 
Thailand 10200